ช้าสามแก้ว ๑

Cyrtandromoea grandis Ridl.

ชื่ออื่น ๆ
ผักนมหิน (ใต้)
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตอนล่างค่อนข้างแข็ง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกบริเวณลำต้นตอนล่าง ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกลม มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน รูปคนโท เมล็ดรูปทรงรี ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ช้าสามแก้วชนิดนี่เป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้ง เป็นสี่เหลี่ยม ตอนล่างค่อนข้างแข็ง สูง ๑-๓ ม. มักไม่แตกกิ่ง เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน กว้าง ๕-๑๒ ซม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ปลายและโคนเรียวแหลมขอบจักฟันเลื่อยตื้น ๆ แต่ละจักมีรยางค์แข็งสั้น ๆ ยื่นออกมาจากปลาย แผ่นใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๒ เส้น ก้านใบยาว ๒-๕ ซม. เกือบเกลี้ยง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ออกบริเวณลำต้นตอนล่าง ทั้งช่อยาว ๖-๑๐ ซม. ก้านช่อดอกและก้านดอกย่อยเรียวเล็กมีขนสั้นนุ่ม ใบประดับขนาดเล็ก บางเป็นเยื่อ รูปไข่กลับ ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง ๐.๖-๑ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. กลีบดอกรูปกรวย ยาว ๓-๕ ซม. สีขาว ด้านนอกมีขนต่อมประปราย ปลายมี ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก กึ่งรูปปากเปิด ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก แฉกรูปกลมเกสรเพศผู้มี ๒ ค่ยูาวไม่เท่ากัน ติดอยยู่ที่โคนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย โคนอับเรณูถ่างออกส่วนปลายติดกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกรวยหรือรูปทรงกระบอก มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นบาง ๒ แผ่น

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ผนังบาง มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน รูปคนโท กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. บางเป็นเยื่อ มีขนสั้นนุ่มประปราย เมล็ดรูปทรงรี ขนาดเล็ก กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๐.๕ มม. มีจำนวนมาก

 ช้าสามแก้วชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๑๕๐-๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมลายูและเกาะสุมาตรา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้าสามแก้ว ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cyrtandromoea grandis Ridl.
ชื่อสกุล
Cyrtandromoea
คำระบุชนิด
grandis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1855-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ผักนมหิน (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์